3 คำคม 5 คำสอนสุดอมตะของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ขอรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผ่าน 3 คำคมและ 5 คำสอนของท่าน ที่จดจำอยู่ในหัวใจของชาวศิลปากรอย่างไม่มีวันลืมเลือน
“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”
ถ้าหากคนเราไม่ขวนขวายด้วยความเพียรพยายาม แล้วจะได้ความสำเร็จมาจากไหน การแสวงหาความรู้ก็เช่นกัน หากไม่ขวนขวายแล้วจะมีความรู้ได้อย่างไร การอ่านหนังสือเป็นการเพิ่มพูนความรู้ หากไม่อ่านจะมีความรู้ที่เพิ่มพูนได้อย่างไร
“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”
งานศิลปะไม่ต่างจากสิ่งบันทึกเรื่องราว เราสามารถทราบเรื่องราวของผู้คนในอดีตจากงานศิลปะเก่าแก่ เช่น ภาพเขียนบนผนังถ้ำ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ถ้ำ มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าภาพของคนล่าสัตว์ กิจกรรมของมนุษย์ในสมัยก่อนมากมาย ภาพเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า มนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดำรงชีวิตอย่างไรบ้าง ดังนั้นศิลปะจึงมีอายุที่ยืนยาวกว่าชีวิตของมนุษย์ มนุษย์ในบางยุคสมัยอาจตายไปแล้ว แต่ศิลปะในยุคสมัยนั้นยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
“พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว”
เป็นคำคมที่สะท้อนความจริง ดังคำว่า “เวลาและวารี (สายน้ำ) ไม่คอยใคร” เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครห้ามให้เวลาหยุดเดินได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์ศิลป์ต้องการสอนให้ตระหนักถึงเรื่องความเสียดายของเวลาที่ล่วงเลยไป เมื่อเราอยากทำอะไรก็จนรีบทำ ก่อนที่จะสายไป เพราะ “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” เราอาจไม่ได้มีโอกาสทำมันอีกก็เลยก็ได้
“อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้ตลอดเวลา”
ท่านให้โอวาทนี้กับ สนิท ดิษฐพันธ์ุ ซึ่งเป็นนักเรียนคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาจิตรกรรมในปีนั้น ท่านสอนว่าการความสำเร็จทางการศึกษาไม่ใช่เครื่องวัดการันตีว่าเราเป็นคนเก่ง ส่วนความรู้ที่เรียนมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอ ดังนั้นจึงควรแสวงหาเพิ่มพูนความรู้ให้ตนเองอยู่เสมอ เพราะแม้ท่านเองยังต้องหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
“ในบรรดาศิลปะด้วยกัน ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย”
ท่านกล่าวสอนกับคนอื่นซึ่งมีคุณสมเกียรติ หอมเอนรวมอยู่ในตอนนั้น ท่านต้องการสอนเรื่องของการเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ไม่ห่วงซึ่งกันและกัน โดยท่านเปรียบเปรยกับการที่มีโอกาสไปฟังดนตรีจากนักดนตรีฝีมือเยี่ยม แล้วก็อยากให้คนอื่นได้ไปฟังด้วย หากเราได้ของดีมาก็ควรแบ่งปันให้แก่กัน
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ”
ท่านกล่าวสอนกับนักเรียนศิลปะที่เพิ่งเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันแรก ก่อนที่จะเรียนศิลปะ ต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน เพราะศิลปะเป็นสิ่งรองรับความคิดของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น บทเพลง แต่งมาจากความรู้สึกและประสบการณ์ของมนุษย์ ภาพวาดก็จำลองมาจากความคิดและจินตนาการของมนุษย์ เป็นต้น อาจารย์ศิลป์สอนนักเรียนศิลปะแบบนี้ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าการเรียนศิลปะไม่ใช่แค่เรียนเพื่อให้วาดและระบายสีเป็นเท่านั้น แต่ผู้เรียนต้องเข้าใจถึงตัวเองในฐานะมนุษย์ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะด้วย
“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต”
คำสอนนี้อาจารย์ศิลป์ต้องการสื่อว่า ศิลปะไม่ใช่วิชาที่สอนเพื่อวาดภาพเท่านั้น แต่เป็นการสอนทักษะในการใช้ชีวิตด้วย เราอาจจะสังเกตเห็นว่า ศิลปิน หรือนักวาดภาพอารมณ์เย็น มีอารมณ์สุนทรีย์ มองอะไรก็เป็นความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้กว่าเขาจะบรรจงวาดภาพได้ ต้องจินตนาการภาพขึ้นมาในหัวก่อน การทำแบบนี้ไม่ต่างจากการไตร่ตรองใคร่ครวญ จึงเริ่มขีดลากเส้นจนกลายเป็นภาพ ชีวิตก็ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะ หากใช้ชีวิตไปโดยไม่ไตร่ตรองใดใดเลย ชีวิตอาจจะเป็นไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย
“ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ… แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่ อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือ ฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ…”
ท่านกล่าวกับลูกศิษย์คนหนึ่ง เพื่อสอนเรื่องความงดงามของมนุษย์ ท่านมองว่ามนุษย์ทุกคนมีความงดงาม แม้โดยรวมแล้วบางคนอาจจะมีรูปร่างที่อัปลักษณ์ แต่อย่างไรก็ต้องมีบางส่วนในร่างกายที่งดงาม แต่ถ้าหากไม่มีเลย จิตใจที่ดีของมนุษย์ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นความงดงามได้เช่นกัน คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าอาจารย์ศิลป์ไม่อยากให้ลูกศิษย์มองมนุษย์ที่ความงดงามจากเปลือกนอกโดยรวมเท่านั้น เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีจุดที่งดงามของตน
ที่มา :
https://th.wikiquote.org
cr. secret
--------------------------------------------------------------------------
#วันนี้คุณอ่านหนังสือแล้วหรือยัง
#bookcaze #นักอ่าน #นักเขียน #ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรี #ebook
_______________________________________________
อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่*
ไม่มีความคิดเห็น